เซเว่น อีเลฟเว่น ของ ซีพี_ออลล์

ประเภท

เซเว่น อีเลฟเว่นที่จังหวัดสุพรรณบุรี

เซเว่น อีเลฟเว่น แบ่งออกเป็น 3 ประเภทตามลักษณะความเป็นเจ้าของ คือ[1]

  • ร้านสาขาบริษัท เป็นร้านที่บริษัทเป็นเจ้าของและบริหารเองทั้งหมด
  • ร้าน Store Business Partner (SBP) เป็นร้านที่ทางบริษัทช่วยเหลือในการดำเนินธุรกิจแก่นักลงทุน โดยเลือกจากเซเว่น อีเลฟเว่นของทางบริษัทที่เปิดดำเนินการอยู่แล้ว หรืออาจทำธุรกิจในทำเลของตัวเอง โดยระยะเวลาอนุญาตให้ดำเนินการร้านและผลประโยชน์ตอบแทน ขึ้นอยู่กับประเภทของ SBP
  • ผู้ประกอบการรับสิทธิ์ช่วงในอาณาเขต (Sub-Area License) เป็นร้านที่บริษัททำสัญญาอนุญาตให้สิทธิ์ช่วงแก่ผู้ประกอบการท้องถิ่น โดยมีกลุ่มตันตรานนท์ ผู้ประกอบการค้าปลีกท้องถิ่นรายใหญ่ของเชียงใหม่ ดูแลพื้นที่เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน ลำพูน, กลุ่มงามทวี ดูแลพื้นที่ภาคใต้ตอนบน เช่น ภูเก็ต กระบี่ ตรัง, กลุ่มศรีสมัย ดูแลบางจังหวัดในภาคใต้ตอนล่าง เช่น ยะลา และกลุ่มยิ่งยง ดูแลการขยายเซเว่น อีเลฟเว่นใน 4 จังหวัดภาคอีสาน ได้แก่ อุบลราชธานี สุรินทร์ ศรีสะเกษ และอำนาจเจริญ[6] กลุ่มเหล่านี้ได้รับสิทธิ์ช่วงรับผิดชอบการเปิดสาขาและบริหารร้าน

การตลาด

เซเว่น อีเลฟเว่น ในยุคแรกมีรูปแบบเป็นมินิมาร์ท คือเน้นขายสินค้าที่ไม่ใช่อาหารมากกว่า ในช่วง 20 สาขาแรก ได้มีการลงทุนเองโดยการซื้อตึกมาเปิดสาขาเอง แต่หลังจากนั้นหันมาใช้วิธีการเช่าแทนจึงทำให้สามารถขยายสาขาได้อย่างรวดเร็ว ต่อมาได้เปลี่ยนกลยุทธ์การใช้ระบบแฟรนไชส์ และซับแอเรียไลเซนซ์ (ผู้ประกอบการรับสิทธิ์ช่วงในอาณาเขต) ถือเป็นที่แรกในโลกที่ใช้ระบบซับแอเรียไลเซนซ์[7] เมื่อขยายได้เกิน 400 สาขา ทำให้บริษัทผ่านจุดคุ้มทุน จึงมีเงินเหลือในการลงทุนด้านต่าง ๆ เพื่อเข้ามาสนับสนุนการทำตลาด เช่น เปิดสถาบันปัญญาภิวัฒน์ เพื่อพัฒนาทีมงานด้านค้าปลีกโดยเฉพาะ[7]

อีกหนึ่งกลยุทธ์การตลาด คือแสตมป์เซเว่น อีเลฟเว่น ที่เริ่มใช้ครั้งแรกในปี พ.ศ. 2542[8] กับแนวคิดเริ่มต้นคือ การให้ส่วนลดกับลูกค้าที่ใช้บริการ แต่ประยุกต์ในรูปแบบการสะสมแสตมป์ โดยจัดต่อเนื่องทุกปี ภายหลังมีการนำคาแรกเตอร์ หรือตัวละครต่าง ๆ เข้ามาในแสตมป์ นอกจากการสะสมแปะไว้ในสมุดสะสมแสตมป์ ยังมีรูปแบบการสะสมแบบ เอ็ม-แสตมป์ (M-Stamp) ผ่านแอปพลิเคชันทางโทรศัพท์มือถือ วิธีการสะสมแสตมป์ได้รับความนิยม จนร้านสะดวกซื้อรายอื่นหันมาทำตาม อาทิ เทสโก้ โลตัส และลอว์สัน 108[9]

สินค้าและบริการ

สัดส่วนสินค้าแบ่งเป็นสินค้ากลุ่มอาหารและของสดเป็นร้อยละ 70 และสัดส่วนสินค้าทั่วไปอยู่ที่ร้อยละ 30 สินค้าที่วางขายในร้าน จัดเป็นกลุ่มผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ร้อยละ 50 หรือราว 2 พันราย จากจำนวนผู้จัดหาสินค้า 4 พันราย และมีจำนวนสินค้าจากผู้ประกอบการกลุ่มเอสเอ็มอีมากกว่า 25,000 รายการ โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าที่ขายดี คือ สินค้าเพื่อสุขภาพและความงาม รวมทั้งผลิตภัณฑ์แปรรูปจากการเกษตรต่าง ๆ[10]

รูปแบบบริการอื่น ในเซเว่น อีเลฟเว่น เช่นร้านกาแฟออลคาเฟ (All Cafe) และอีกแบรนด์คือ Kudsan Bakery & Coffee ที่ทำตลาดกาแฟ บางร้านมีมุมอาหารปรุงสุก ออลมีล (All Meal) ที่เริ่มเปิดบริการตั้งแต่ปี 2557 เซเว่น อีเลฟเว่นยังมีบริการต่อทะเบียนรถผ่าน เคาน์เตอร์ เซอร์วิส เริ่มบริการนี้ตั้งแต่ปี 2558 มีบริการซัก-อบ-รีด จากบริษัท คลีนเมต (CleanMate) บางสาขาให้บริการเครื่องถ่ายเอกสารและพรินต์เอกสาร ในบางสาขามีร้านขายยา เอ็กซ์ต้า พลัส, ตัวแทนให้บริการคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT Refund) ให้นักท่องเที่ยวต่างชาติในบางสาขา และเซเว่น อีเลฟเว่นยังมีบริการรับส่งพัสดุ[11]

นอกจากนั้นเซเว่น อีเลฟเว่นยังเป็นตัวแทนธนาคารพาณิชย์ (Banking Agent) ให้บริการฝากถอนเงิน โดยร่วมมือกับธนาคารออมสิน ธนาคารกสิกรไทย ธนาคารไทยพาณิชย์[12] และธนาคารแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์[13]

แหล่งที่มา

WikiPedia: ซีพี_ออลล์ http://www.bangkokbiznews.com/news/detail/501847 http://www.brandage.com/article/9336/7-Eleven http://www.cpall.co.th http://www.set.or.th/dat/annual//A0737T17.zip http://www.set.or.th/set/companyinfo.do?type=profi... https://brandinside.asia/cpall-financial-report-q3... https://www.billionaireth.com/what-7-eleven-can-do... https://mgronline.com/stockmarket/detail/962000005... https://positioningmag.com/1182156 https://positioningmag.com/1206871